<< Go Back 

  ดีบุกเป็นโลหะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ ในอดีต ดีบุกเป็นสินค้าส่งออก ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้ปีละมหาศาล แม้ว่าปัจจุบันการทำเหมืองดีบุก จะซบเซาลงไปมากแล้วก็ตาม แต่อนุสรณ์แห่งความสำคัญของโลหะชนิดนี้ ก็ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงน่าที่พวกเราชาวไทย จะทำความรู้จักกับโลหะเศรษฐกิจของไทยชนิดนี้กันมากขึ้น

          ดีบุกพบในธรรมชาติในรูปของออกไซด์ ในแร่แคสซิเทอไรต์ (cassiterite) ในสภาพปกติ ดีบุกมีสมบัติเป็นโลหะ แม้ว่าในตารางธาตุ จะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับธาตุอโลหะและกึ่งโลหะ อย่างคาร์บอนและซิลิกอนก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากทิ้งไว้ในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส ดีบุกสามารถเปลี่ยนอัญรูปไปเป็นอโลหะ ที่เรียกกันว่า ดีบุกเทา (gray tin) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคาร์บอนหรือซิลิกอนได้เช่นกัน ดีบุกในรูปที่เป็นโลหะจะมีสีขาวเงิน จุดหลอมตัวต่ำ เนื้ออ่อน สามารถตีเป็นแผ่นบางได้ ดีบุกทนต่อการกัดกร่อนได้ดีกว่าเหล็ก ดังนั้นเมื่อเคลือบบนผิวเหล็ก จะช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กขึ้นสนิมได้ อย่างไรก็ดี หากผิวดีบุกที่เคลือบอยู่ถูกเจาะทะลุจนถึงเนื้อเหล็กเมื่อใด ดีบุกจะกลายเป็นตัวเร่งให้เหล็กเกิดสนิมได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากดีบุกมีความแข็งแรงต่ำไม่สามารถนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้งานโดยตรงได้ การใช้ประโยชน์ของดีบุก จึงมักอยู่ในรูปของการนำไปเคลือบหรือผสมกับโลหะอื่น ประโยชน์ของดีบุก ที่เรารู้จักกันดีที่สุด ได้แก่ การนำมาเคลือบแผ่นเหล็ก หรือที่เรียกกันว่า เหล็กวิลาส (tinplate) ซึ่งนำมาใช้ในการทำภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากดีบุกเป็นโลหะที่ทนต่อการกัดกร่อนได้ดี และไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ ดีบุกยังเป็นส่วนผสมของโลหะผสม (alloy) หลายชนิด เช่น สำริด (bronze) ซึ่งได้จากทองแดงผสมกับดีบุก โลหะผสมระหว่างดีบุก พลวง และทองแดง ใช้ทำเป็นลูกปืน สำหรับเครื่องจักรกลหลายชนิด ดีบุกเมื่อนำมาผสมกับตะกั่วในสัดส่วนต่างๆ จะได้โลหะผสม ที่มีจุดหลอมตัวต่ำได้ตามต้องการ สำหรับนำไปใช้ในงานบัดกรีโลหะ

          ส่วนสารประกอบของดีบุก เช่น ทินออกไซด์ (SnO2) ใช้ผสมในเคลือบผลิตภัณฑ์เซรามิก เพื่อให้เคลือบมีความทึบแสง ซิงค์สแตนเนท (Zinc stannate) ใช้เป็นตัวเติมเพื่อช่วยลดความสามารถในการติดไฟ (flammability) ของพลาสติก สารประกอบอินทรีย์ของดีบุกใช้เป็นตัวทำให้พลาสติก PVC อยู่ตัว เหมาะกับการใช้เป็นหีบห่อ หรือวัสดุก่อสร้าง สารประกอบดีบุกบางชนิด สามารถใช้เป็น สารปกป้องแมลงกัดกินไม้ได้อีกด้วย

http://www.thaigoodview.com/files/u7179/Sn.jpg

          แร่ดีบุกที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ แคสซิเทอไรต์ (cassiterite) ซึ่งพบและเป็นแร่เศรษฐกิจเพียงชนิดเดียวสูตรทางเคมีคือ SnO2 โดยมีส่วนประกอบของ Sn และ O ประมาณ 78.6% และ 21.4% ตามลำดับ อีกชนิดหนึ่ง คือ สแตนไนต์ (stannite) พบน้อยมากและไม่มีการผลิต  คุณสมบัติทางกายภาพของ แคสซิเทอไรต์ มีดังนี้ มีรูปผลึกระบบเททราโกนาลแข็ง 6-7 ทนทานต่อการสึกกร่อนได้ดี ความถ่วงจำเพาะ (ถ.พ.) 6.8-7.1 วาวอโลหะแบบเพชรหรือกึ่งโลหะ สีของแร่ส่วนมากที่พบมักจะมีสีน้ำตาลดำหรือดำ สีน้ำผึ้ง เหลือง แดง และม่วงคล้ายเปลือกมังคุด สีจำปาผงละเอียดสีขาว  การกำเนิด  การกำเนิดของแร่ดีบุกในประเทศไทยนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหินอัคนีแทรกซอนชนิดกรด (acid rock) โดยทั่วไปแล้วจะเกิดอยู่ในสายแร่แบบน้ำร้อนแทรกในหินพวกแกรนิตหรือหินชั้นที่อยู่ข้างเคียง และอาจเกิดเป็นก้อนหรือผลึกเล็ก ๆ ฝังในหินเพกมาไทต์ หินสการ์น รวมถึงในหินแกรนิตที่อยู่ใกล้กับบริเวณเขตสัมผัสกับหินข้างเคียงด้วย

          เนื่องจากดีบุกเป็นแร่ที่มีความทนทานต่อการสึกกร่อนทางกายภาพสูงเมื่อหินต้นกำเนิดผุพัง จึงมักจะถูกนำพาไปสะสมตามเชิงเขาหรือแอ่งและที่ราบลุ่มต่าง ๆ เกิดเป็นแหล่งแร่ดีบุกแบบลานแร่ (placer)  สายแร่ดีบุกโดยปกติมักมีแร่ที่มีฟลูออรีนหรือโบรอนอยู่ด้วย เช่น ทัวร์มาลีน โทแพช ฟลูออไรต์ และอะพาไทต์ ส่วนแร่อื่นที่พบเกิดร่วมกับแร่ดีบุก เช่น วุลแฟรไมต์ ชีไลต์ แร่ตระกูลไนโอเบียม-แทนทาลัม อิลเมไนต์ โมนาไซต์ ซีโนไทม์ และเซอร์คอน  แหล่งในประเทศ  ส่วนใหญ่พบทางซีกด้านตะวันตกของประเทศติดกับชายแดนประเทศสหภาพพม่า โดยพบในภาคใต้ทุกจังหวัด ภาคกลางมีที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคเหนือพบในจังหวัดกำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ส่วนภาคตะวันออกพบที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี  ประโยชน์ แคสซิเทอไรต์ เป็นสินแร่ที่สำคัญของโลหะดีบุก เนื่องจากโลหะดีบุกมีคุณสมบัติในด้านการทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดและสารละลายต่างๆ ไม่เป็นสนิม ผสมเป็นเนื้อเดียวกับโลหะอื่นได้ดี และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงถูกนำมาใช้ในการเคลือบโลหะต่างๆ ที่ทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารเป็นส่วนใหญ่ ใช้ผสมตะกั่ว เงิน หรือทองแดงเป็นโลหะบัดกรี ผสมกับโลหะอื่นทำภาชนะประดับและศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พิวเตอร์และบรอนซ์ ผสมกับเงินและปรอททำสารอุดฟันทางทันตกรรม

          นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ สารประกอบของดีบุกสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง ได้แก่ ใช้ในการผลิตแก้วเนื้อทึบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ สิ่งทอ กระจกแผ่นเรียบ พลาสติก สีทาบ้าน ยากำจัดพยาธิในสัตว์ ยาสีฟัน และใช้ในการฟอกน้ำตาล เป็นต้น  ผลผลิต  การทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยนั้นคาดว่าได้มีมาช้านานแล้ว โดยเริ่มมีการทำเหมืองผลิตแร่ดีบุกที่ภาคใต้ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับขึ้นมาทางภาคกลาง เหนือ และตะวันออกตามลำดับ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 2061) ก็ได้มีการส่งออกแร่ดีบุกแล้ว สถิติการผลิตแร่ดีบุกในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2541 มีดังนี้ 1,457; 756; และ 2,123.7เมตริกตัน มูลค่า 162; 92.2; และ 336.81 ล้านบาท ตามลำดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2541) ประเทศไทยได้ผลิตแร่ดีบุกไปแล้วทั้งสิ้น 1,561,255 เมตริกตัน

 

    << Go Back