ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
6 สัตว์ใกล้ตัวกับประโยชน์น่าทึ่ง
แชร์
ฟัง
ชอบ
6 สัตว์ใกล้ตัวกับประโยชน์น่าทึ่ง
07 พ.ย. 65 • 12.30 น. | 13,313 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

“สัตว์ใกล้ตัว” ที่เราคุ้นเคยระแวกบ้านอย่าง จิ้งจก มด หนอนปลอก แมงมุม แมลงหวี่ และหอยทาก หลายครั้งมักสร้างปัญหา "กวนใจ" จนเกิดคำถาม พวกมันเกิดมาทำไมนะ? หากเรียนรู้ให้ลึกเราจะพบว่าสัตว์เหล่านี้ "เป็นประโยชน์" ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ มาดูกันว่าเพื่อนตัวจิ๋วของพวกเราได้สร้างสิ่งดี ๆ และช่วยโลกไว้อย่างไรบ้าง

🦎จิ้งจกบ้าน พลังยึดเกาะเหลือล้น

เจ้าจิ้งจกน้อยหน้าตาน่ารัก ส่งเสียงร้อง จุ๊ จุ๊ จุ๊ เป็นเอกลักษณ์ คนโบราณเชื่อว่า หากจิ้งจกทักก่อนออกจากบ้าน ถือเป็นลางร้าย แต่หากจิ้งจกตกใส่ ถือเป็นความโชคดี แสดงว่าจิ้งจกบ้านก็มีผลต่อความเชื่อของมนุษย์อยู่ไม่น้อย มีหลายคนที่เกลียดและกลัวจิ้งจกเข้าไส้ อยากจะกำจัดให้หมดไป แต่รู้ไหมว่าน้องก็กลัวคนไม่แพ้กัน อีกทั้งไม่มีพิษภัยที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

 

จิ้งจกเป็นสัตว์เลื้อยคลานเครือญาติเดียวกับตุ๊กแกและกิ้งก่า แพร่พันธุ์ไปหลายประเทศทั่วโลก ชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ

จิ้งจกบ้านหางหนาม (common house gecko) หางค่อนข้างกลม “มีหนามอยู่เล็ก ๆ อยู่ด้านข้าง” ชนิดนี้เมื่อตกใจหรือระหว่างต่อสู้มัก “หางขาด” ใช้เวลา 2 - 6 สัปดาห์กว่าหางจะงอกใหม่ ขึ้นอยู่กับความยาวที่ขาดออกไป

 

จิ้งจกบ้านหางแบน  (flat-tailed house gecko) สังเกตง่าย ตัวใส หางแบน มีพังผืดที่ตืนมาก มาพร้อมสกิลพลางตัวสุดยอด เมื่อเกาะบนพื้นผิวสีสว่าง ลำตัวมันจะเปลี่ยนสีไปทางเหลืองอ่อน แต่หากเกาะบนพื้นผิวสีเข้ม ลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้ม นี่อาจเป็นที่มาของสุภาษิตที่ว่า “จิ้งจกเปลี่ยนสี” ที่ใช้เปรียบกับคนที่รู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้

🔸ประโยชน์น่าทึ่งของจิ้งจกบ้าน🔸

  • ช่วยกำจัดแมลงต่าง ๆ ที่เข้ามาสร้างความรำคาญ รวมถึงช่วย "ลดประชากรแมงเม่า" ก่อนที่จะเจริญเติบโตไปเป็นปลวกกัดกินบ้านเรือน อาหารสุดโปรดปราณของจิ้งจก ได้แก่ แมงเม่า แมลงสาบ ปลวก ผีเสื้อกลางคืน แมลงวัน แมงมุม ด้วง ผึ้ง ตัวต่อ โดยมักออกหากินในตอนกลางคืนและเลือกที่จะอยู่ใกล้แสงไฟเพื่อจับแมลง
  • ใช้ทำเหยื่อสำหรับตกปลา หนึ่งในอาหารอันโอชะของปลาตัวใหญ่ เทคนิคของนักตกปลาทั้งหลายที่มักใช้จิ้งจกเป็นเหยื่อหรือเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลาช่อนและปลามังกร
  • จิ้งจกเป็น “ยาอายุวัฒนะ” มีการยืนยันจากหมอพื้นบ้านไทใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่า สมุนไพรนวลจันทร์ แล้วว่า จิ้งจกมีสรรพคุณทางยาด้านบำรุงกำลังหรือเป็นยาโด๊ป ช่วยล้างเมือกมันในลำไส้เป็นอย่างดี มีฤทธิ์ร้อน ช่วยลดความดันสำหรับกินหน้าหนาว โดยเฉพาะส่วนหาง มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ
  • ตีนจิ้งจก ต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของนาซา ในอนาคตเราอาจได้ใช้หุ่นยนต์ติดตีนจิ้งจกออกไปทำหน้าที่ต่าง ๆ นอกวงโคจร เช่น ไปเก็บกวาดขยะอวกาศ หรือนำดาวเทียมกลับมาซ่อมแซม

หุ่นยนต์ยูทิลิตี้ Limbed Excursion Mechanical Utility (LEMUR) กำลังปีนขึ้นรอบนอกสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยระบบยึดเกาะเลียนแบบตีนตุ๊กแก - nasa.gov

ความพิเศษของตีนจิ้งจกมีพลังยึดเกาะผนังได้อย่างเหนือชั้น เกิดจากแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลที่เรียกว่า “แรงแวนเดอวาลส์” ซึ่งอยู่ระหว่างปุ่มล็ก ๆ นับล้านบนฝ่าตีนจิ้งจก นาซ่าจึงไม่รอช้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ คือ “ระบบยึดเกาะตีนจิ้งจกสำหรับหุ่นยนต์อวกาศ” เพื่อใช้สำหรับภารกิจนอกโลกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง รวมทั้งสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย เช่น ร้อนจัด หนาวจัด รังสีเข้มข้น แรงดันสูง

🐜มด สัตว์สังคม มากอุดมการณ์

เมื่อนึกถึงบทเพลงที่ทำให้หลายคนรู้จัก “มด” ได้ดีที่สุด คงต้องเป็น “เพลงมดตัวน้อยตัวนิด มดมีฤทธิ์น่าดู” สัตว์ที่มีเสน่ห์ขึ้นชื่อเรื่อง “ความขยัน” มีพละกำลังมากมาย ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก” มันสามารถรับน้ำหนักได้ 50 เท่าเมื่อเทียบกับขนาดตัวของมัน อีกทั้งยังมีการดำรงชีวิตที่น่าทึ่ง มีการแบ่งชนชั้นวรรณะอยู่กินกันเป็นอาณาจักร

 

มดถือได้ว่าเป็นสัตว์ที่ครองโลกนี้ไปแล้ว โดยแพร่กระจายมากกว่า 15,000 สายพันธุ์ทั่วโลก ยกเว้นพื้นที่หนาวเย็นสุดขั้นอย่างทวีปแอนตาร์กติกา อาร์กติก และบางหมู่เกาะ ที่พบเห็นบ่อย ๆ ใกล้ตัวเรามีประมาณ 8 ชนิด ซึ่งมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน

  • มดดำ (Black House Ant) ลำตัวสีดำ กินไม่เลือก แม้จะไม่ต่อยแต่ก็กัด และมีกลิ่นที่รุนแรงเมื่อโดนบด
  • มดคันไฟ (Fire Ant) ส่วนหัวและลำตัวมีสีน้ำตาลแกมทองแดง กินพืชอ่อน ๆ แมลง และเมล็ดพืช ทนต่อทุกสภาวะที่เลวร้าย มีความก้าวร้าว จู่โจมด้วยการกัดแล้วฉีดพิษที่ทำให้ปวดแสบปวดร้อน
  • มดผี (Ghost Ant) ลำตัวมองเห็นได้ยาก ค่อนข้างโปร่งแสง ชอบน้ำหวานมาก รวมทั้งซากแมลง ปล่อยกลิ่นคล้ายมะพร้าว แต่ถ้าโดนบี้จะมีกลิ่นเหม็น
  • มดเหม็น (Odorous House Ant) สีน้ำตาลหรือดำ ทนทานต่อความร้อนและความเย็นได้ดี ชอบปล่อยกลิ่นรุนแรงแทนการกัด
  • มดละเอียด (Pharaoh's Ant) หรือ “มดฟาโรห์” มีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อนเกือบโปร่งใส ชอบปล่อยสารฟีโรโมนเพื่อดึงดูดและขับไล่ กินอาหารได้หลากหลายตั้งแต่ก้อนน้ำตาลไปจนถึงเนื้อผ้า
  • มดช่างไม้ (Carpenter Ant) มีขนาดใหญ่ ส่วนมากลำตัวมีสีดำ ชอบทำรังบนไม้ทุกชนิดแต่ไม่กินไม้ เป็นได้ทั้งนักล่าและกินสัตว์ที่ตายแล้ว ไม่ค่อยก้าวร้าว
  • มดน้ำผึ้ง (Honeypot ant) ส่วนบนสีดำ ก้นสีน้ำตาล โดดเด่นเรื่องการกักเก็บน้ำหวานจนก้นป่องคล้ายลูกองุ่น
  • มดแดง (Crazy Ant) หรือ “มดบ้า” เพราะเวลาถูกรบกวนจะวิ่งเซไปเซมา ลำตัวมีสีน้ำตาล ขาและหนวดยาว กินอาหารได้หลากหลายทั้งเมล็ดพืช หนอน และซากสัตว์ เห็นได้บ่อยตามต้นมะม่วง

 

มนุษย์มองว่ามดเป็น "สัตว์รุกราน นักทำลายล้าง" ในครัวเรือน ลามไปถึงภาคการก่อสร้างและการเกษตร หากมองในแง่ดี พวกมันเป็นทั้ง "นักล่าและผู้ย่อยสลาย" ที่สำคัญในระบบนิเวศน์ มาดูกันว่า ประโยชน์อันน่าทึ่งของ “เจ้ามด” มีด้านใดบ้าง

  • ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช มดเป็นสัตว์นักล่าตามธรรมชาติที่เหล่าศัตรูพืชนั้นขยาด คอยจับกินหนอน แมลงสาบ ตัวอ่อนหมัด แมลงวัน ปลวก และเพลี้ยต่าง ๆ ไม่ให้ระบาดในสวนผลไม้ช่วยชาวเกษตรกร
  • ผลิตปุ๋ยธรรมชาติ มดทำหน้าที่ย่อยสลาย กินขยะอินทรีย์ แมลง หรือสัตว์ที่ตายแล้ว ด้วยการขนเข้าไปในรัง ช่วยหมุนเวียนสารอาหารในดินกลายเป็นปุ๋ยให้แก่พืช
  • ช่วยพรวนดินไม่ต่างจากไส้เดือน มดส่วนใหญ่จะทำรังอยู่ในดิน ขุดอุโมงค์เขาวงกตที่ช่วยระบายอากาศในดินและปล่อยให้ความชื้นเข้าสู่รากพืช และยังไถพรวนดินโดยนำก้อนกรวดเล็ก ๆ ขึ้นไปด้านบน พืชพรรณจึงได้รับผลประโยชน์นี้ไปด้วย

  • กระจายเมล็ดพันธุ์ พฤติกรรมที่ชอบสะสมอาหาร พวกมันมักจะผสมเกสรดอกไม้และแจกจ่ายเมล็ดพืช ช่วยพืชขยายพันธุ์ยังพื้นที่ใหม่ ๆ 
  • พยากรณ์อากาศ มดไวต่ออุณหภูมิและความชื้น พวกมันจึงมีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดได้ดีกว่ามนุษย์ ในฤดูแล้งหรืออากาศร้อนจัด มดจะอพยพจากพื้นดินขึ้นมาอยู่ในบริเวณที่เย็นชื้น แสดงว่าจุดนั้นอาจเกิดไฟป่า หากมดแตกหือให้เดาเลยว่าจะมีแผ่นดินไหว และเมื่อมดเริ่มขนไข่ย้ายออกจากรังขึ้นที่สูงแปลว่าจะมี “ฝนตกหนัก” ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์เพื่อระวังภัยธรรมชาติ 
  • เป็นอาหารชั้นเลิศ นอกจากมดจะแหล่งอาหารของแมลง นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง “ตัวกินมด”แล้ว ในบางวัฒนธรรมยังถือว่าเป็นอาหารอันโอชะ เช่น ภาคอิสานของไทย มีการนำไข่มดแดงและตัวมดแดง มารังสรรเป็นเมนูต่าง ๆ ทั้งลาบ ก้อย ต้ม ห่อหมก เช่นเดียวกับชนพื้นเมืองอเมริกันและออสเตรเลีย ที่มักมดน้ำผึ้งหรือมดหวานมานานหลายศตวรรษ
  • สัตว์เลี้ยงสร้างรายได้ คนเลี้ยงมดจำนวนมากให้ความสนใจและศึกษาการเลี้ยงมดอย่างจริงจัง ด้วยความที่มดเป็นสัตว์สังคมที่คล้ายกับมนุษย์ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่ายไม่ยุ่งยาก มีความอึด ถึก ทน ปัจจุบันสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยง

🧹หนอนปลอก ตัวชี้วัดฝุ่นในบ้าน

เจ้าแมงที่มีถุงนอนห่อตัวเหมือน “มัมมี่” ชอบเกาะอยู่ตามผนังบ้าน เรียกว่า “หนอนปลอก” ไม่ได้มีนิสัยชอบเจาะผ้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่เป็นอันตรายต่อคน หากเป็นสัตว์ที่ชี้วัดถึงความสกปรกของบ้าน เพราะบริเวณไหนที่มีฝุ่นมาก ๆ ที่นั่นก็จะเป็นแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างสบายใจ

หนอนปลอก (Plaster Bagworm) หรือ“ผีเสื้อหนอนปลอกผนังบ้าน” (Household Casebearer) บางคนเรียกว่า “แมงกินฝุ่น” เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน ญาติสนิทกับ “ผีเสื้อหนอนเจาะผ้า” (Clothes Moth) จอมกัดกินเสื้อผ้าตัวจริง หนอนปลอกมักเก็บกินแต่เศษดิน ฝุ่น ขน เส้นผม ตามพื้นบ้าน และนำมาทอเป็นปลอกห่อหุ้มลำตัวเพื่อป้องกันจากผู้ล่า ในขณะที่หนอนเจาะผ้าจะกินใยฝ้ายเป็นอาหารและนำมาสร้างเป็นปลอกห่อหุ่มตัวเอง

 

"ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท" ได้ข้อมูลจาก "รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว" อาจารย์ภาควิชากีฎวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจากม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ว่า หนอนปลอก ไม่ได้มีพฤติกรรมเจาะผ้าอย่างที่โลกออนไลน์แชร์กัน

แม้ว่า “หนอนปลอก” จะสร้างความรำคาญในครัวเรือน แต่ประโยชน์ของมันก็เป็น “ตัวชี้วัดความสกปรกในบ้าน” ได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยกำจัดไรฝุ่น กินเศษซากอินทรีย์ ใยแมงมุม ที่พบในบ้าน รวมถึงช่วย “กำจัดเชื้อรา” ที่พบตามโครงสร้างไม้อีกด้วย หนอนปลอกนั้นช่วยย้ำเตือนมนุษย์ให้หมั่นดูแลความสะอาดของบ้าน หากไม่อยากเห็นน้องบ่อย ๆ เพียงเก็บกวาดทุกอย่างให้ปราศจากฝุ่นและหยากไย่เป็นพอ

 

ในมุมของห่วงโซอาหาร ศัตรูตามธรรมชาติของหนอนปลอกมีไม่กี่ชนิด เช่น ตัวต่อ นกหัวขวานและนกกระจอก เมื่อพวกมันฟักเป็นตัวเต็มวัย คล้าย “แมงเม่า” บินไปทั่วบ้าน จะกลายเป็นแหล่งอาหารของจิ้งจก ตุ๊กแก กบ และคางคก

🕷️แมงมุม ขยุ้มแมลง

ต้นแบบ “Spiderman” หรือ “ไอ้แมงมุม” ที่ใคร ๆ ต่างรู้จัก ถูกนำมานิยามใหม่เป็นซุปเปอร์ฮีโรอย่างเท่ และอาวุธสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือ “ใยแมงมุม” ที่ถักทอเส้นใยละเอียดซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดทำได้ มาพร้อมคุณสมบัติยืดหยุ่นสูงและรับน้ำหนักได้ยอดเยี่ยม

 

แมงมุม (Spider) เป็นสัตว์สามัญประจำบ้าน ชอบอาศัยอยู่ตามเพดานและมุมห้อง บางชนิดก็ชอบอยู่ตามที่ชื้น ๆ อย่างห้องน้ำ มีความสามารถพิเศษในการปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพเเวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่ทะเลทรายที่ร้อระอุ ในถ้ำลึก ภูเขาสูง หรือในน้ำ จึงเป็นเหตุผลที่พวกมันอยู่รอดมาได้ตั้งเเต่ยุค 350 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน

 

เจ้าแปดขาที่ชอบเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ในบ้าน คือ “แมงมุมพเนจร”(Huntsman spider) เป็นแมงมุมขนาดใหญ่ที่หลายคนกลัว ได้ฉายาว่า “นักล่าแมลงสาบ” ซึ่งเป็นอาหารสุดโปรดปราณของมัน มักซุ่มโจมตีเหยื่อด้วยปากและพิษโดยตรง จึงข้อดีของแมงมุมชนิดนี้ ที่ไม่ทิ้งร่องรอยของใยแมงมุมให้รกบ้าน และเมื่อหวาดกลัวมันจะวิ่งหนีมนุษย์

 

อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีขนาดเล็ก น่าตาน่ารัก แถม “ไม่กัดคน” เว้นแต่ว่ามันจะรู้สึกถึงอันตราย นั่นคือ “แมงมุมกระโดด” (Jumping spiders) พบเห็นได้ตามบ้านเรือนทั่วไปและสวนหลังบ้าน มีความสามารถกระโดดได้ไกลถึง 10 - 15 เท่าของความยาวลำตัว โดยจะกระโดดไปทั่วเพื่อล่าแมลงเล็ก ๆ มาเป็นอาหาร เช่น แมลงวัน จนถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เสือแมลงวัน" 

โดยปกติแมงมุมจะชักใยเพื่อปกป้องไข่และตัวเองจากศัตรู หรือไม่ก็ล่อเหยื่อเข้ามาในรัง อีกทั้งยังมีไว้สำหรับลอยตัวและเป็นสะพานเชื่อมไปยังกิ่งไม้ต่าง ๆ 

 

🔸ประโยชน์น่าทึ่งของเจ้าแมงมุม🔸

  • บทบาทในการช่วยกำจัดของแมลงศัตรูพืชและแมลงพาหะนำโรค 90% เหยื่อของแมงมุมส่วนใหญ่เป็นแมลง ตัวการสำคัญที่มักก่อกวนบ้านเรือน สวน และพืชผล
  • ใยแมงมุมกำเนิดนวัตกรรมมากมาย นักวิทยาศาสตร์ใช้ประโยชน์จาก “ใยแมงมุม” (Spider Web) ที่มีความแข็งแรงมากกว่าใยเหล็ก และยืดหยุ่นมากกว่าเส้นใยสังเคราห์ะ สามารถนำมาผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน, เข็มขัดนิรภัย, ไหมเย็บแผล และเส้นเอ็นเทียม ล่าสุดสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้ค้นพบคุณสมบัติใหม่ของใยแมงมุมที่เป็นประโยชน์ในด้านการแพทย์ ใช้สร้างเป็นกล้ามเนื้อของหุ่นยนต์ได้

แมงมุมเกือบทุกชนิดมีพิษ ออกฤทธิ์รุนแรงและสร้างความเจ็บปวดแตกต่างกัน เมื่อเราพบเห็นให้ออกห่าง และไม่เข้าไปจับด้วยมือเปล่า

🪰แมลงหวี่ สัตว์ต้นแบบแห่งงานวิจัย

แมลงศัตรูพืชที่สร้างปัญหาสำหรับใครหลายคน มักบินวนเข้ามาตอมบริเวณดวงตา อยู่กับผลไม้เน่า และเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ มาสู่คน พวกมันเป็นแมลงขนาดเล็กที่มีวงจรชีวิตแสนสั้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์

 

แมลงหวี่ แมลงวันชนิดหนึ่ง ชอบตอมตามเศษอาหาร กองขยะ ผลไม้และผักเน่าเสีย รวมทั้งคน ชนิดที่พบเห็นได้ทั่วไป มี 3 ชนิด คือ 

  • แมลงหวี่ หรือ “แมลงวันผลไม้” (Fruit fly) มีสีเหลือง ตาสีแดง พบได้ตามผลไม้ที่เน่าเสีย แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ผลไม้เน่า
  • แมลงหวี่ตา (Eye fly) บางครั้งเรียก “ริ้นตา” มีสีดำ ลำตัวเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร มักดูดกินของเหลวที่หลั่งออกมาจากตา จมูก และหู ทั้งของมนุษย์และสัตว์ บางชนิดดูดกินบาดแผลและอุจจาระ ตัวอ่อนของแมลงหวี่ตาอาศัยอยู่ใต้ดิน ดูดกินอาหารจากต้นหญ้า จึงพบได้บ่อยตามสนามหญ้าหรือตามไร่นา
  • แมลงหวี่ขน (Moth fly) บางครั้งเรียก “แมลงท่อ” เพราะอาศัยอยู่ในท่อประปาและท่อน้ำทิ้ง มักพบได้ตามห้องน้ำ มีขนตามลำตัวคล้ายผีเสื้อขนาดเล็ก ตัวหนอนเกิดในวัตถุที่เน่าเปื่อย กินกากตะกอน หรือแบคทีเรียที่ตายแล้วเป็นอาหาร พวกมันไม่มีอันตรายและไม่มีรายงานว่าเป็นพาหะนำโรค

กลุ่มแมลงหวี่ที่ถูกเพาะในงานวิจัย - nasa.gov

สำหรับประโยชน์อันน่าทึ่งของแมลงหวี่ มีความสำคัญต่อ "วงการแพทย์และงานวิจัยทางชีววิทยา"เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยวงจรชีวิตของพวกมันค่อนข้างสั้น โดยเฉลี่ยเพียง 14 วัน และไม่ยุ่งยากต่อการทดลอง นักวิทยาศาตร์จึงนิยมนำมาเป็นสัตว์ทดลองต้นแบบ (model) เพื่อศึกษาทางพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาของจุลินทรีย์ในระดับต่าง ๆ เช่น การวางแผนผสมพันธุ์สิ่งมีชีวิต การเกิดโรค วิวัฒนาการชีวิต และการกลายพันธุ์ของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังใช้ศึกษาวิวัฒนาการชีวิตในพืชและผลไม้บางชนิดที่มีพิษ อย่างผลโนนิ (ลูกยอ) และใบมัสตาร์ด

 

แมลงหวี่มีประโยชน์มากต่อระบบนิเวศ เพราะพวกมันกินสิ่งเน่าเปื่อย ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งของการติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย จึงมีความสำคัญที่ระบบย่อยอาหารของหนู ในการปล่อยสารอาหารกลับคืนสู่ดิน และมีบทบาทเป็นผู้ย่อยสลาย ทำลายมูลสัตว์ หมุนเวียนสารอาหารสำหรับพืช แบคทีเรีย และเชื้อรา

🐌หอยทาก ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่

สัตว์เดินช้าที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ชอบคลานเนิบ ๆ ตามกำแพง หรือบนทางเท้าหลังฝนตก มาพร้อมกับ “เปลือก” รูปกรวย อีกทั้งเคล็ดลับแห่งความงามทั่วโลกยังได้ประโยชน์มากมายจากเมือกหอยทาก

 

เรามักพบ “หอยทาก” ทุกที่บนโลก รวมถึงทวีปที่มีอากาศหนาวจัดอย่างขั้วโลกเหนือและใต้! แต่ละสายพันธุ์ก็มีถิ่นฐานแตกต่างกันไป สายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดในบ้านเรา เห็นจะเป็น “หอยทากในสวน” หรือ Garden Snail มักทิ้งร่องรอยไว้ตามทางเดินและกำแพง

 

ชีวิตที่เชื่องช้าของหอยทาก เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดเพียง 1.3 เซนติเมตรต่อวินาที หรือ 47 เมตรต่อชั่วโมง ด้วยการหลั่ง “เมือก” ออกมาจนชุ่ม จากนั้นก็ยืดหดกล้ามเนื้อเท้าไปข้างหน้า เมือกของหอยทากเปรียบเสมือนกาวเจลช่วยในการยึดเกาะและหล่อลื่นในเวลาเดียวกัน ทำให้มันสามารถเดินไปได้ทุกที่แม้ในพื้นผิวขรุขระ 

 

หอยทากกินพืชเป็นอาหารหลัก กินลูกไม้ ใบไม้ รวมทั้งพืชผักในสวน นอกจากนี้ยังกินพืชที่เน่าเปื่อย บางครั้งก็กินซากหอยทากหรือหนอนที่โดนเหยียบ

 

🔸ประโยชน์อันน่าทึ่งของหอยทาก🔸

หลายคนอาจจะคิดว่า “หอยทาก” สร้างความหายนะในนาข้าวและสวน รู้หรือไม่ว่าพวกมันมีคุณค่ามหาศาลต่อสิ่งมีชีวิต

 

  • ผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศ หอยทากบกกินสารอินทรีย์หลากหลายชนิด ส่วนใหญ่พืชล้มลุก เปลือก ซากใบไม้ สาหร่าย และเชื้อราที่เน่าเปื่อย มีส่วนช่วยในการย่อยสลายแร่ธาตุต่าง ๆ หมุนเวียนให้ผู้ผลิต (Producer) ในระบบนิเวศนำไปใช้ได้อีกครั้ง
  • ช่วยต่อชีวิตสัตว์นักล่า หอยทากเป็นแหล่งอาหารของสัตว์มากมาย โดยเฉพาะสัตว์นักล่าอย่าง นกหลายชนิด กิ้งก่า กบ และตะขาบ ซึ่งมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร
  • วัตถุดิบของอาหารรสเลิศ ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และโปรตุเกส หอยทากนั้นจัดว่าเป็นอาหารอันโอชะ ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย ที่เรียกว่า “แอ็สการ์โก” (Escargot) และเป็นอาหารฮาลาลยอดนิยมในบาหลีและอินเดีย ชื่อว่า “สะเต๊ะ กากุล” เป็นหอยทากเสียบไม้คล้ายหมูสะเต๊ะ ในประเทศ



  • แหล่งของสารอาหารและโปรตีนชั้นดี หอยทากอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินเอ ที่สำคัญปริมาณโปรตีนในหอยทากมีมากพอ ๆ กับเนื้อหมูและเนื้อวัว และมีไขมันที่ต่ำกว่า
  • ส่วนผสมหลักของเครื่องสำอาง เซรั่มหอยทากเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่โด่งดังมากในปี 1980 มีผลการศึกษาบางชิ้น พบว่าเมือกหอยทากอาจมีประโยชน์ในการช่วยรักษาบาดแผล โดยอาจกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้เซลล์ผิวงอกใหม่
  • แรงบันดาลใจในการผลิตกาวทางการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนา “กาว” ที่ความเหนียว โดยได้ต้นแบบมาจากเมือกของทาก กาวทางการแพทย์ถูกออกแบบมาเพื่อซ่อมแซมการทำงานที่บกพร่องของหัวใจ และใช้ยึดติดรอยเย็บที่อาจรั่วไหลได้

 

สัตว์ใกล้ตัว บางครั้งอาจเป็นตัวปัญหา แต่หากมองกันที่คุณค่า สัตว์เหล่านี้ก็นับว่าเป็น “เพื่อนที่แสนดี” ของมนุษย์

ยังมีสัตว์ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันอีกมากมายที่คุณอาจไม่เคยรู้ประโยชน์ของพวกมัน สามารถเรียนรู้ได้ในรายการ เกิดมาไม... สัตว์ (คลิก)

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บทบาทในระบบนิเวศ, 
#หุ่นยนต์ยูทิลิตี้, 
#องการนาซ่า, 
#คนเลี้ยงมด, 
#ชีวิตหนอนปลอก, 
#ผีเสื้อหนอนปลอกผนังบ้าน, 
#HouseholdCasebearer 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บทบาทในระบบนิเวศ, 
#หุ่นยนต์ยูทิลิตี้, 
#องการนาซ่า, 
#คนเลี้ยงมด, 
#ชีวิตหนอนปลอก, 
#ผีเสื้อหนอนปลอกผนังบ้าน, 
#HouseholdCasebearer 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา