ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
รู้จัก "นกชนหิน" ก่อนที่จะเหลือแค่ชื่อ
แชร์
ชอบ
รู้จัก "นกชนหิน" ก่อนที่จะเหลือแค่ชื่อ
30 มิ.ย. 65 • 20.00 น. | 1,364 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

 

'นกชนหิน' เป็นนกโบราณที่คาดว่าอาศัยอยู่บนโลกเรามานานกว่า 45 ล้านปีก่อน แต่เพราะภัยคุกคามจากมนุษย์ ทำให้ประชากรนกชนหินเข้าสู่วิกฤตสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ จนล่าสุดได้รับการผลักดันเป็นสัตว์สงวนของไทย ลำดับที่ 20 ALTV ขอพาเพื่อน ๆ ทุกคนมาทำความรู้จักเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับนกชนหินไปพร้อมกัน

ที่มา: Wong Tsu shi

"นกชนหิน" คือนกเงือกสายพันธุ์โบราณ

ตู๊ก...ตู๊ก... ลงท้ายด้วย ฮ่า ๆ ๆ...คล้ายเสียงหัวเราะ คือเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ "นกชนหิน" หรือ (Helmeted Hornbill) นกชนหินคือ "นกเงือก" ชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าอาศัยอยู่บนโลกเรามาตั้งแต่ 45 ล้านปีก่อน ซึ่งหากเทียบอายุระหว่างนกเงือกทั้ง 13 ชนิดของไทยแล้ว นกชนหินมีอายุเก่าแก่ที่สุด และถือว่าเป็นญาติสนิทของนกสายพันธุ์โหนกใหญ่ เช่น นกกก นกหัวแรด

 

ความพิเศษที่ทำให้นกชนหินแตกต่างจากนกเงือกสายพันธุ์อื่นอยู่ตรงโหนกเหนือจงอยปากสีแดงคล้ำปนเหลือง มีความแข็งและตันคล้ายงาช้าง มีไว้ช้ในการต่อสู่เพื่อแย่งชิงอาณาเขตระหว่างตัวผู้ด้วยกัน โดยพวกมันจะบินเอาหัวชนกันจนเกิดเสียงกระทบ เป็นที่มาของชื่อ "นกชนหิน" นั่นเอง

 

ปัจจุบันนกชนหินพบได้ในบริเวณป่าที่ราบต่ำแถบประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัด นครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 

 

"นกชนหิน" รักครอบครัว นิสัยช่างเลือก

ตั้งแต่เดือนมกราคมลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม นับเป็นช่วงเวลาการขยายพันธ์ุของนกชนหิน ในช่วงเวลานี้นกชนหินจะเลือกทำรังบนต้นไม้สูง และมีพฤติกรรม "สร้างแบบโพรง (Cavity Nest)" ที่ไม่ได้เกิดจากการนำกิ่งไม้ใบหญ้ามาประกอบเป็นรัง แต่จะเลือกโพรงไม้ธรรมชาติมาเป็นที่อยู่อาศัย

 

นกชนหินพิถีพิถันในการเลือกรังเป็นพิเศษ และเป็นหน้าที่ของพ่อนกในการเสาะหารังให้ถูกใจแม่นก โดยจะต้องเป็นต้นไม้สูงมีโพรงกลวงลึกพอเหมาะ และทุกโพรงต้องมีปุ่มให้เกาะเพื่อการทรงตัว ซึ่งต้นไม้ที่ทั้งสูง มีโพรงใหญ่มักพบในต้นไม้อายุเก่าแก่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นกาลอ ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงในหมู่นักตัดไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยข้อจำกัดมากมายนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นกชนหินมีจำนวนน้อยลง

 

เมื่อแม่นกเจอรังที่พอใจแล้ว มันจะปิดปากโพรงด้วยมูล เศษไม้ เศษดิน เหลือเพียงช่องเล็ก ๆ เพื่อให้พ่อนกสามารถส่งอาหารเข้ามาได้ นกตัวเมียเริ่มปิดปากรังมันจะอยู่ในนั้นราว 4-5 เดือน และลูกนกจะออกจากรังในช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม โดยในระหว่างนี้พ่อนกจะทำหน้าที่เลี้ยงดูทุกสมาชิกด้วยตัวเดียว โดยการบินหาอาหารไปกลับ ราว 6 เดือน เพื่อเลี้ยงลูกนกและแม่นกที่อาศัยอยู่ในรัง ซึ่งหากพ่อนกตายหรือถูกล่าไปก่อน ก็มีแนวโน้มว่าทั้งครอบครัวที่เหลือจะไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้

ที่มา: Global Conservation

งาสีเลือด หยกทองคำ ชีวิตที่ต้องสังเวยให้ความเชื่อ

ปัจจุบันมีนกชนหินเหลืออยู่ใประเทศไทยไม่เกิน 100 ตัว หรืออาจน้อยกว่านั้น สาเหตุหลักมาจากการถูกล่าอย่างหนักโดยน้ำมือมนุษย์ เพื่อนำเอาอวัยวะส่วน "โหนก" ไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับ สร้อย กำไล ตามความเชื่อที่ว่าสามารถช่วยเสริมสิริมงคล ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในประเทศจีนและสิงค์โปร รู้จักกันในชื่อ "งาสีเลือด" หรือ "หยกทองคำ" ‘

 

ไม่เพียงแค่ที่ไทยเท่านั้นที่จำนวนประชากรนกชนหินเข้าขั้นวิกฤต ในระดับโลกนกชนหินก็ถูกคุกคามอย่างหนัก โดยเริ่มตั้งแต่แถบหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ที่คาดว่ามีการล่านกชนหินไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัว ซึ่งทำให้จำนวนนกชนหินลดลงอย่างรวดเร็ว การล่าขยายขอบเขตเรื่อยมายังประเทศใกล้เคียงตั้งแต่ เมียนมา ลาว และไทย

 

ล่าสุด IUCN Red List โดย องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นกชนหินจัดอยู่ในเกณฑ์สิ่งมีชีวิตใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical Endangered Species - CR) และจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 บัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส โดยในไทยเองก็มีการผลักดันให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับ 20 ได้สำเร็จ

 

ที่มา: Science photo library

ถึงหน้าตาไม่น่ารัก แต่ช่วยรักษาระบบนิเวศ

เพราะนกชนหินเลือกอาศัยในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ การมีอยู่ของนกชนหินจึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ไม่รวมกับความสามารถในการช่วยกระจายพันธุ์พืชต่าง ๆ จากพฤติกรรมการกินของมันอีกด้วย

 

พืชอาหารของนกชนหินมีราว ๆ 100 ชนิด มันสามารถกินได้ทั้งผลไม้ที่มีขนาดเล็กไปจนถึงผลไม้ขนาดใหญ่มากกว่า 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นความสามารถของนกขนาดใหญ่อย่าง นกเงือก หรือ นกชนหินเท่านั้น นกขนาดเล็กไม่สามารถทำได้ และเมื่อพวกมันกินเสร็จ ก็จะนำเมล็ดไปทิ้งไว้ทั่วป่าทุกวันเป็นกิจวัตร เรียกได้ว่าเป็นนกที่ปลูกป่าให้เราทุกวัน

 

ด้วยเหตุนี้ การหายไปของนกชนหินจึงส่งผลได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศของป่า ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของทุกชีวิต รวมถึงมนุษย์ด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจไม่ได้เห็นพันธุ์ไม้รุ่นลูกเติบโตในป่าอีกต่อไป เพราะไม่มีสัตว์อย่างนกชนหินช่วยกระจายพืชพันธุ์ให้ก็เป็นได้ ซึ่งนอกจากนกชนหินแล้วยังมีสัตว์ป่าสงวนอีกหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์รอให้ ทำความรู้จักและเรียนรู้ ที่รายการ สังคมสนุกคิด ตอน สัตว์สงวน ทางเว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก

 

ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#นกชนหิน, 
#สัตว์สงวน, 
#สัตว์ป่าคุ้มครอง, 
#นกหายาก, 
#คนรักนก, 
#ป่าไม้, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ความหลากหลายทางชีวภาพ, 
#นกเงือกไทย, 
#สัตว์ใกล้สูญพันธุ์, 
#งาสีเลือด, 
#หยกทองคำ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#นกชนหิน, 
#สัตว์สงวน, 
#สัตว์ป่าคุ้มครอง, 
#นกหายาก, 
#คนรักนก, 
#ป่าไม้, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ความหลากหลายทางชีวภาพ, 
#นกเงือกไทย, 
#สัตว์ใกล้สูญพันธุ์, 
#งาสีเลือด, 
#หยกทองคำ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา