วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ปอทะเล

ปอทะเล
ปอทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus tiliaceus L.
วงศ์ : MALVACEAE
ชื่ออื่น : โพทะเล (กรุงเทพฯ); บา (จันทบุรี); ผีหยิก, ขมิ้นนางมัทรี (เลย); ปอฝ้าย, ปอนา, ปอมุก (ใต้); ปอโฮ่งบารู (มลายู-นราธิวาส)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-10 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ลำต้นมักคดงอแตกกิ่งก้านมาก เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆ เปลือกชั้นในสีชมพูประขาว เหนียว สามารถลอกออกจากลำต้นได้ง่าย
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปหัวใจฐานกว้าง ขนาด 7-15 x 8-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนบางๆ ถึงเกลี้ยง ด้านท้องใบมีขนละเอียดสีขาว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเว้า ขอบใบหยักมนถี่ เส้นใบออกจากโคนใบ 7-9 เส้น และที่เส้นกลางใบ อีก 4-6 คู่ มีหูใบขนาดใหญ่ ยาว 3 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบ ร่วงง่าย ก้านใบยาว 3.5-10 เซนติเมตร มีขนยาวนุ่ม
ดอก ออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อกระจุกหรือช่อแขนง ก้านดอกยาว 1 เซนติเมตรริ้วประดับรูปถ้วย ยาว 0.8-1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกลึก 8-11 แฉก เป็นรูปสามเหลี่ยม วงกลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 2 เซนติเมตร มี 5 กลีบ มีขนละเอียดหนาแน่น แต่ละกลีบรูปใบหอก ยาวกว่าหลอดกลีบเลี้ยง วงกลีบดอกใหญ่รูปไข่กว้าง สีเหลืองก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตรโคนกลีบดอกด้านในสีแดงเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ ยาวกว่าหลอดเกสรเพศผู้
ผล รูปไข่ เกือบกลม กว้างยาว 1.5 เซนติเมตร มีขนละเอียดหนาแน่น มีจะงอยสั้น ผลอยู่ภายในวงกลีบเลี้ยงรูปถ้วยที่ติดอยู่อย่างคงทน ผลแก่แตกยาว 5 พู เมล็ดเล็กมีจำนวนมาก ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี
ปอทะเลขึ้นตามชายทะเล แม่น้ำลำคลอง ภายใต้อิทธิพลของน้ำกร่อย และมักนำไปปลูกเป็นไประดับ เปลือกใช้ทำเชือก และหมันยาเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น