Tuesday, August 6, 2013

สุขสันต์วันเกิดครบรอบ 50 ปีของเครื่องเล่นเทปเสียง (Audio cassette)


สุขสันต์วันเกิดครบรอบ 50 ปีของเครื่องเล่นเทปเสียง (Audio cassette)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat E-mail: pracob.cooparat@gmail.com



ภาพ Compact cassette ที่ได้พัฒนาขึ้นเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา และได้เปลี่ยนวงการดนตรี จากระบบแผ่นเสียง Long play ให้กลายเป็นระบบเสียงที่มีเล่นเพลงกันได้ แม้ในรถยนต์ ก็มีการติดระบบเล่นเทปกันเกือบทุกคัน

Keywords: การสื่อสาร, เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร, Information Technology, IT, Information and Communication Technology, ICT, audio cassette, Compact Cassette, Musicassette - MC

เรียบเรียงจาก “Happy 50th Birthday, Cassettes! The trusty audio cassette was introduced to the world in August of 1963.” โดย Lily Rothman @lilyrothman, Aug. 02, 2013.

วันที่เขียนบทความสั้นเรื่องนี้ คือวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 2013 …

เป็นการเขียนบทความบันทึกประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (Information & Communication Technology หรือ ICT) ที่เทคโนโลยีอนาลอค (Analog Technology) ที่มาอย่างรวดเร็ว และเฟื่องฟู ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า ที่เรียกว่าเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Technology) เข้ามาทดแทน แล้วเทคโนโลยีในระบบเก่าต้องเกือบสูญหายตายจากไปในที่สุด

ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1963 โลกได้พบกับงานประดิษฐ์ชิ้นใหม่ที่ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของโลกดนตรี นั่นคือเครื่องเล่นเทปเสียง (Audio cassette tape) ซึ่งในเดือนนี้นับเป็นวันเกิดครบรอบ 50 ปีของเครื่องเล่นเทปนี้

ผู้ประดิษฐ์เครื่องเล่นเทปนี้คือ Lou Ottens ปัจจุบันอายุ 87 ปี เขาบอกแก่นิตยสาร TIME ว่าเครื่องเล่นเทปนี้เป็นความตื่นเต้นนับตั้งแต่วันแรกเป็นต้นมา


ภาพ TDK D-C60 cassette เป็นเทปบันทึกเสียงที่มีคุณภาพ สามารถบันทึกเสียงได้ 60 นาที ใช้ได้ในบ้านเรือนทั่วไป พัฒนาตามมาตรฐานของ Philips' Compact Cassette

ข้อมูลจาก Wikipedia, free encyclopedia

Compact Cassette
ประเภทของสื่อ
Media type
แถบเทปแม่เหล็ก
Magnetic tape
การลงรหัส
Encoding
สัญญาณแบบอนาลอค
Analog signal
ความสามารถ
Capacity
สามารถบันทึกเสียงได้ 30-45 นาทีต่อด้าน เมื่อรวม 2 ด้านก็จะเป็น 60 และ 90 นาทีตามลำดับ แต่ที่จะมีขนาดแตกต่าง กันที่บันทึกได้น้อยกว่า เป็น C15, C20, C30, หรือขนาดจุกว่ามาตรฐานกลาง เป็นC120 และ C180 มีเป็นส่วนน้อย
Typically 30 or 45 minutes of audio per side (C60 and C90 formats respectively); less common capacities included C15, C20, C30, C120 and C180.
กลไกการอ่าน
Read mechanism
หัวอ่านเทป
Tape head
กลไกการบันทึก
Write mechanism
หัวอ่านแบบแม่เหล็ก
Magnetic recording head
การใช้
Usage
การเก็บข้อมูลที่เป็นเสียง
Audio and data storage

เทปบันทึกเสียงขนาดเล็ก (Compact Cassette หรือ Musicassette - MC) เป็นที่รู้จักกันในชื่อคาสเซทเทป (Cassette tape), เทปเสียงหรือเทปบันทึกเสียง (Audio cassette), หรือเรียกง่ายๆว่า เทป” (Tape) เป็นการบันทึกเสียงในแถบแม่เหล็ก (Magnetic tape recording format) แล้วสามารถนำมาแสดงได้ (Playback) หรือจะนำไปลบข้อมูลทิ้งให้กลายเป็นเทปเปล่า (Recordable blank cassette) ได้ มันถูกออกแบบมาในระยะแรกเพื่อการใช้บันทึกการพูด (Dictation machines) แต่ด้วยในช่วงของการพัฒนาคุณภาพการบันทึกเสียง สามารถทำให้คุณภาพเสียงที่บันทึกดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถนำมาทดแทนระบบบันทึกเสียงแบบสเตริโอ 8 ช่องเสียง (Stereo 8-track) ได้ ใช้ทดแทนม้วนเทปบันทึกเสียงแบบเดิมที่เป็นม้วนขนาดใหญ่ (Reel-to-reel tape) ที่เป็นการบันทึกเสียงในระดับมืออาชีพ ประโยชน์ใช้สอยเริ่มตั้งแต่เป็นเครื่องบันทึกเสียงแบบโยกย้ายได้ ใช้บันทึกเสียงระดับภายในบ้าน และต่อมาใช้เป็นระบบบันทึกเสียงในเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กยุคแรก (Micro computers) ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ถึงช่วง 1990s แคสเซทเทปนับเป็นรูปแบบการบันทึกเสียงเพลงหนึ่งในสองสิ่งที่ใช้กันมากที่สุดในช่วงแรก คือแผ่นเสียงขนาดใหญ่ (LP record) ในยุคก่อนหน้านั้น และซีดี (Compact Disc) ซึ่งเกิดในยุคต่อมา และยังมีการใช้จนถึงในปัจจุบัน


ภาพ แผ่นเสียงขนาดใหญ่ เรียกว่า Long play ที่มีเล่นกันตามบ้าน เป็นยุคที่การบันทึกเสียงมีคุณภาพดีขึ้น แต่บันทึกแบบนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้


ภาพ เครื่องบันทึกเสียงและเล่นเสียงแบบ Reel to reel เป็นเครื่องเล่น และระบบการบันทึกเสียงก่อนมี Compact cassette การบันทึกเสียงในเทป เป็นแบบสามารถลบเสียงหรือข้อมูล แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable)


ภาพ เครื่องบันทึกเสียงแบบ Reel to reel ที่มีความพยายามพัฒนาให้ราคาถูกลง แต่กระนั้นก็ยังมีขนาดใหญ่ และราคาแพง จนกระทั่งถึงยุคมี Cassette


ภาพ เปรียบเทียบขนาดระบบบันทึกเสียงในตลับ RCA tape cartridge ด้านขวาขนาดใหญ่ และคาสเซทเทป (Compact Cassette) ด้านซ้ายที่มีขนาดเล็กกว่ามาก


ภาพ เทปคาสเซทแบบต่างๆที่มีใช้กัน อันประกอบด้วย อันบนเป็น Maxell MX (Type IV), อันล่างขวา เป็น TDK SA (Type II) และอันล่างซ้าย เป็น TDK D (Type I)


ภาพ เครื่องบันทึกเสียงรุ่นแรกๆ ของ Philips รุ่น Typ EL 3302 ในปี ค.ศ. 1968

ในปี ค.ศ. 1935 หลายทศวรรษก่อนเกิดเทปคาสเซท บริษัท AEG ของเยอรมันได้ออกระบบเครื่องบันทึกเสียงแบบม้วนต่อม้วน  (Reel-to-reel tape recorder) ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า Tonbandgerät  มีชื่อเรียกในทางการค้าว่า แมกเนโตโฟน (Magnetophon) โดยอาศัยพื้นฐานจากแถบเทปแม่เหล็ก (Magnetic tape) ที่ได้เริ่มมีมาแต่ปี ค.ศ. 1928 โดย Fritz Pfleumer โดยใช้ม้วนเทปแบบเปิด (Open reels) ส่วนแถบเทปผลิตโดย BASF เครื่องบันทึกเทปในช่วงแรกมีราคาสูงมาก และยากที่จะใช้ จึงมีใช้กันในเพียงวงการระดับอาชีพ ดังเช่นสถานีวิทยุ (Radio stations) และโรงบันทึกเสียง (Recording studios) สำหรับการใช้เป็นส่วนตัวและใช้ตามบ้าน ระบบบันทึกเสียงแบบม้วนต่อม้วนยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งในทศวรรษที่ 1950s เพราะราคาจะอยู่ที่ระหว่าง 700 และ 1,500 DM ซึ่งเป็นมูลค่าในปัจจุบันประมาณ  1600 ถึง 3400

เครื่องบันทึกเสียงในลักษณะดังกล่าวยังมีราคาแพงอยู่มากที่จะมีคนใช้ในวงกว้าง และระบบบันทึกเสียงยังใช้หลอดแบบสูญญากาศ (Vacuum tube) ทำให้อุปกรณ์มีขนาดหนักและใหญ่โตเกินไป

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s น้ำหนักและราคาของเครื่องบันทึกเสียงลดลง เพราะระบบหลอดสุญญากาศได้ถูกแทนที่ด้วยทรานซิสเตอร์ (Transistors) ระบบบันทึกเสียงแบบม้วนต่อม้วนจึงมีการใช้ในวงที่ขยายกว้างขึ้น แต่ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดใหญ่ (Long playing record disc players)

ในปี ค.ศ. 1958 บริษัท RCA Victor ของอเมริกา ได้พัฒนาระบบบันทึกเสียงแบบสเตริโอขนาดเทปกว้าง ¼ ของนิ้วทดแทนระบบบันทึกเสียงแบบม้วนต่อม้วน เรียกว่า “ตลับเทปแบบอาร์ซีเอ (RCA tape cartridge) ขนาดตลับ 5X7 นิ้ว อย่างไรก็ตาม แม้มีการพัฒนาต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ระบบไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี ค.ศ. 1962 บริษัทเครื่องไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของยุโรป Philips ได้ประดิษฐ์แคสเซทบันทึกเสียงที่เรียกกว่า Compact Cassette medium และได้นำเสนอให้กลุ่มธุรกิจวิทยุในงาน Berlin Radio Show และในสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ชื่อในทางการค้าว่า Norelco ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1964 ได้ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าว่า Compact Cassette

บริษัท Philips ยังได้เปิดตลาดเครื่องบันทึกเสียง Norelco Carry-Corder 150 recorder/ player ซึ่งเป็นทั้งเครื่องบันทึกเสียงและระบบเล่นเสียง โดยภายในปี ค.ศ. 1966 สามารถขายอุปกรณ์นี้ได้ 250,000 เครื่องเฉพาะในตลาดสหรัฐและญี่ปุ่น และกลายเป็นอุปกรณ์หลักในการอัดเสียง ในปี ค.ศ. 1968 มี 85 โรงงานที่ผลิตเครื่องบันทึกเสียงและเล่นเสียงรวมได้ 2.4 ล้านเครื่อง

ในช่วงปีเริ่มต้น คุณภาพของเสียงอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่ได้มีการปรับปรุงดีขึ้นเป็นลำดับ จนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s เครื่องบันทึกเสียงแบบ Compact Cassette ได้รับความนิยม เป็นเครื่องบันทึกเสียงทางเลือกทดแทนจานเสียงขนาด 12 นิ้ว (12-inch vinyl LP) ในช่วงทศวรรษที่ 1970s

ในการออกแบบเพื่อใช้งานในช่วงแรกๆ เป็นไปเพื่อการอัดเสียงคำพูดแล้วนำมาถอดเทป จึงไม่ได้มุ่งในด้านมาตรฐานเสียงมากนัก แต่ต่อมาได้มีการใช้เทคโนโลยีลดเสียงรบกวน และใช้เทปแบบ Chromium dioxide (CrO2) tape จัดผลิตโดยฝ่ายกล้อง Wollensak camera division ของบริษัท 3M Corporation ซึ่งทำให้ได้ผลออกมาดีขึ้นในระดับพัฒนาเป็นเครื่องมือบันทึกและใช้เล่นเสียงในระดับเสียงดนตรีแบบไฮไฟ (High fidelity – Hi-fi) ได้


ภาพ เครื่องบันทึกและเล่นเสียงคุณภาพสูง Sony Walkman ขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก

ในช่วงทศวรรษที่ 1980s คาสเซทยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก อันเป็นผลมาจากระบบบันทึกเสียงและเครื่องเล่นคุณภาพสูง (High-fidelity) หรือ hi-fi อุปกรณ์นี้เรียกว่า Sony Walkman ที่ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1979 ที่ตัวเครื่องมีขนาดเล็กมาก ใช้คาสเซทเป็นตัว บันทึกเสียง เมื่อใช้ร่วมกับที่เสียบหูฟัง ทำให้สามารถพกพาติดตัวไปและรับฟังเสียงเพลงไปได้ด้วยในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเดิน วิ่งหรือเดินทางไปในที่ใดๆ

No comments:

Post a Comment