ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศในการจัดสภาพแวดล้อม

3. ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศในการจัดสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อการเรียนรู้
...... สังคมสารสนเทศเป็นสังคมแห่งความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในวิถีชีวิตของสังคมใหม่ สถานศึกษาจึงต้องจัดเตรียมผู้เรียนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างให้พวกเขารู้เท่าทันเทคโนโลยี และรู้เท่าทันสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้พวกเขาเรียนรู้สิ่งนี้ในปริบทจริง ทักษะที่จำเป็นที่ต้องส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษายุคใหม่ ได้แก่
3.1 การคิดอย่างใคร่ครวญ (Reflection) เนื่องจากสารสนเทศในสังคมใหม่มีอยู่อย่างมหาศาล ผู้เรียนจึงต้องมีทักษะในการกลั่นกรองสารสนเทศสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งใดดี ไม่ดี เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตประจำวันและในวิชาชีพ

3.2 การแสวงหาความรู้ (Inquiry) ท่ามกลางสารสนเทศ และองค์ความรู้มหาศาลทั่วทุกหนแห่ง นอกเหนือจากการเรียนรู้จากผู้สอนโดยตรงแล้ว บรรยายกาศห้องเรียนต้องเป็นสถานที่ที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเข้าถึงแหล่งความรู้เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นและทักษะในการแสวงหาความรู้ พัฒนาตนเองเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง

3.3 การใช้เทคโนโลยี (Technology-use) เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแสวงหาความรู้ใหม่ในสังคมปัจจุบัน ความรู้ที่ไร้พรหมแดน ผู้สอนจึงต้องส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และการแสวงหาความรู้ใหม่ ทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน ในห้องสมุด หรือแม้แต่ในห้องปฏิบัติการ

3.4 การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Knowledge construction) ทฤษฎีการเรียนรู้แนวคอนสตรัคทิวิสม์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการส่งเสริมการเรียนรู้ในยุคสังคมสารสนเทศ แนวคิดนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่าผู้เรียนเองเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ โดยการลงมือปฏิบัติ แสวงหาเหตุผล ค่อย ๆ ทำความเข้าใจจนได้ข้อสรุป เป็นการได้ความรู้โดยผ่านกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวผู้เรียนเอง

 

ภาพประกอบ แผนผังแสดงรูปทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาในยุคสังคมสารสนเทศ
ที่มา : วสันต์ อติศัพท์ , 2546 : 2

ในสังคมสารสนเทศ สภาพแวดล้อมใหม่เพื่อการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเพียงในห้องเรียน หากแต่เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ นวัตกรรมเทคโนโลยีจะมีบทบาทในการขยายขอบเขตของสภาพการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น และไม่จำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ Margaret Riel เสนอรูปแบบแนวคิดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่พึงมี 4 องค์ประกอบ คือ

 

ภาพประกอบ แผนผังแสดง รูปแนวคิดการจัดสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อการเรียนรู้
ที่มา : วสันต์ อติศัพท์ , 2546 : 5

1. การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered Approach) หมายถึงผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระฉับกระเฉง และเน้นเนื้อหาที่ผู้เรียนสนใจ เป้าหมายของการเรียนการสอนยุคใหม่คือ การให้ผู้เรียนตั้งเป้าหมายด้วยตนเอง และมีความสามารถที่จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่

2. ความรู้เป็นศูนย์กลาง (Knowledge-centered approach) ความสามารถในการคิด การคิดอย่างใคร่ครวญ และการแก้ปัญหา จะแข็งแกร่งก็ด้วยการเข้าถึงความคิด สมมติฐาน ความคิดรวบยอด ที่ผู้รู้ต่าง ๆ ได้จัดไว้อย่างมีความหมาย การเรียนที่มีความรู้เป็นศูนย์กลางนี้ จะเน้นบทบาทที่สำคัญของผู้สอนในการจัดรายวิชาการเรียนรู้ให้ผู้เรียน และสร้างสภาพการเรียนรู้ที่สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย

3. ชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community-centered approach) สิ่งนี้เป็นมิติที่วิกฤติอย่างหนึ่งของสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ ชุมชนของผู้เรียนมีความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับห้องเรียนของผู้เรียน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ คือ กลุ่มคนที่มีลักษณะดังนี้
(1) มีความสนใจร่วมในหัวเรื่อง งาน หรือปัญหา
(2) เคารพต่อความหลากหลายของแนวคิด
(3) มีระดับของทักษะและความสามารถ
(4) มีโอกาสและความมุ่งมั่นที่จะทำงานเป็นหมู่คณะ
(5) มีเครื่องมือที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ
(6) ผลผลิตทางความรู้เป็นเสมือนเป้าหมายหรือผลผลิตร่วมของชุมชนของผู้รู้ ชุมชนของผู้เรียนเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญในสังคมสารสนเทศ เพราะนวัตกรรมเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงชุมชนของผู้เรียนจากต่างสถาบัน ต่างภาค ต่างประเทศ ให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์

4. การประเมินผลเป็นศูนย์กลาง (Assessment-centered approach) การรู้ว่าผู้เรียนกำลังเรียนอะไรอยู่ และอะไรคือสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญในการดัดแปลงสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ การประเมินต้องเป็นการนำไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่า มากกว่าการตัดสินว่าผู้เรียนเรียนรู้หรือไม่ การประเมินผลในสภาพจริง เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งของการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมใหม่ เป็นการประเมินกระบวนการ การประเมินผลของการปฏิบัติงาน มากกว่าการวัดเพียงความรู้ความจำ เครื่องมือของการประเมินจึงออกมาในรูปของการประเมินเชิงมิติ (Rubrics) ที่มีการวางเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจน การประเมินจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
การสร้างแผนที่มโนมติ (Concept-map) ที่แสดงออกของการเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลาย เหล่านี้เป็นต้น
( วสันต์ อติศัพท์, 2546 : 5-6)

 

กลับขึ้นด้านบน

 

More....