การผลิต
       เมื่อเจาะหลุมประเมินผลและยืนยันว่ามีปริมาณน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติมากพอในเชิงพาณิชย์แล้ว
วิศวกรก็จะวางแผนเพื่อทำการพัฒนาหลุมให้เป็นหลุมผลิตต่อไปโดยจะวางแผนเพื่อที่จะผลิตให้ได้อัตรา
การผลิตสูงที่สุด นำน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติขึ้นมาให้ได้มากที่สุด และใช้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำที่สุด
เพื่อประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเมื่อผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในระยะเริ่มแรกหลุมจะมีแรงดัน
ตามธรรมชาติดันปิโตรเลียมขึ้นมาจาชั้นหินใต้พื้นโลกดัวยตัวเองเราจะติดตั้งวาล์วเพื่อควบคุมแรงดัน
และบังคับการไหลไว้ที่ปากหลุม เมื่อผลิตไประยะเวลาหนึ่งแรงดันตามธรรมชาติจะลดลงเราจึงจำเป็นต้อง
ใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ เข้าช่วยเพื่อเพิ่มแรงดันให้กับหลุม
เมื่อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติเดินทางผ่านทางท่อจากแท่นหลุมขุดเจาะมายังแท่นผลิตกลาง
(Central Processing Platform) ก็จะผ่านเข้าสู่กระบวนการต่างๆ บนแท่นเพื่อแยก น้ำ
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารปนเปื้อนอื่นๆ ออกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยพบก๊าซธรรมชาติเหลว ปนขึ้นมาพร้อมกับก๊าซธรรมชาติ
ด้วยบนแท่นจึงมีกระบวนการเพื่อแยกก๊าซธรรมชาติเหลวด้วยเช่นกัน
   เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมด น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกส่งไปเก็บยังคลังเก็บน้ำมันลอยน้ำบนเรือขนาดใหญ่
ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำมันได้หลายแสนบาร์เรลและติดตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับแท่นผลิตเพื่อรอการขนถ่ายไปยังเรือของผู้ซื้อ
ตามที่ได้วางแผนไว้ส่วนก๊าซธรรมชาติจะถูกขนส่งผ่านทางท่อใต้ทะเลความยาว 425 กิโลเมตรมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป
กระบวนการกลั่นปิโตรเลียม
  ปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ได้จากหลุมผลิตที่เจาะพบใต้พิภพ จะต้องผ่านกรรมวิธีก่อนนำมาใช้
เช่น ปิโตรเลียมจากฐานขุดเจาะในทะเลจะส่งผ่านไปแยกแก๊ส น้ำและสิ่งสกปรกออกจากน้ำมันดิบแล้วจึงถูกส่ง
ผ่านไปยังสถานีแยกปิโตรเลียมที่ชายฝั่งที่สถานีนี้ปิโตรเลียมจะถูกแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์
สำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ ตามต้องการเพื่อความสะดวกและเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ การแยกน้ำมันดิบคือการ
แยกส่วนประกอบน้ำมันดิบด้านกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะแยกโดยวิธีการกลั่นลำดับส่วนซึ่งใช้หลักนำน้ำมันดิบ
มากลั่นในหอกลั่นบรรยากาศ น้ำมันดิบจะถูกแยกตัวออกเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่มีช่วงจุดเดือดต่างกัน
นั่นคือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ที่รวมอยู่ในน้ำมันดิบ จะมีระดับการกลั่นที่อุณหภูมิแตกต่างกัน
ตั้งแต่ลบ 157 องศาเซลเซียส ขึ้นไปจนถึงหลายร้อยองศาเซลเซียส
สำหรับก๊าซธรรมชาติจะนำมาแยกออกเป็นแก๊สชนิดต่าง ๆ
เช่น อีเทน (Ethane) ใช้เป็นวัตถุดิบทำอุตสาหกรรมเปโตรเคมีคัล
เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ โพรเพน (propane)
และบิวเทน (butane)แยกเป็นแก๊สปิโตรเลียมเหลวหรือแก๊สหุงต้ม
 การกลั่นน้ำมัน คือ การแยกน้ำมันดิบออกเป็นส่วนต่างๆ ที่มีจุดเดือดใกล้เคียงกันตามลำดับ ตั้งแต่ ก๊าซหุงต้ม
น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาและยางมะตอย เป็นต้น กระบวนการกลั่นจะแตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ซึ่งขั้นตอนของกระบวนที่สำคัญประกอบด้วย
การแยก (Separation)
เป็นการแยกน้ำมันโดยวิธีการกลั่นลำดับส่วน (Fractional Distilation) โดยนำน้ำมันที่แยกน้ำและเกลือแร่แล้ว
มาให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 368-385 องศาเซลเซียสแล้วผ่านเข้าไปในห่อกลั่น น้ำที่ร้อนจะกลายเป็นไอลอยขึ้นไป
ยอดหอ และกลายเป็นของเหลวตกลงบนถาดรองรับที่มีอยู่ภายในหอกลั่นในแต่ละช่วงของผลิตภัณฑ์
ที่ต้องการ ของไหลในถาดก็จะไหลออกมาตามท่อเพื่อน้ำไปเก็บแยกตามประเภท และนำไปใช้ต่อไป
การเปลี่ยนโครงสร้าง (Conversion)
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้อาจมีคุณภาพไม่ได้พอ จึงต้องใช้วิธีทางเคมีเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำมัน
ทำให้โมเลกุลของน้ำมันหนักแตกตัวเป็นน้ำมันเบา โดยใช้ความร้อน หรือใช้ตัวเร่งปฏิกริยาเป็นตัวช่วย
การปรับคุณภาพ (Treating)
เป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากน้ำมัน โดยเฉพาะกำมะถัน ซึ่งใช้วิธีการฟอกด้วยไฮโดรเจน หรือฟอกด้วยโซดาไฟ

การผสม (Blending)
คือการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการต่างๆ มาปรุงแต่งหรือเติมสารที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตาม
มาตราฐานที่กำหนด เช่น ผสมน้ำมันเบนซินเพิ่มค่าออกเทน หรือผสมน้ำมันเตาที่ข้นเหนียวกับน้ำมันเตาที่เบากว่า
เพื่อให้ได้ความหนืดตามที่ต้องการ