การละเล่นและการแสดงพื้นบ้านของผู้ใหญ่

หมอลำ
     หมอลำเป็นการละเล่นของชาวศรีสะเกษมาแต่โบราณกาลแล้ว มีการพัฒนามาตามลำดับ โดยมีเครื่องดนตรีหลัก คือ แคน ต่อมามีพิณ  ซอ  กลอง  
และเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้ามาประกอบ หมอลำอาจแบ่งประเภทได้ดังนี้
               หมอลำคู่
     หมอลำคู่ คือลำโต้ตอบระหว่างชาย หญิง หมอลำชิงชู้ คือการรำระหว่างชายสองหญิงหนึ่ง หรือชายหนึ่งหญิงสอง ต่อมาได้พัฒนาเป็น หมอลำซิ่ง
นุ่งน้อยห่มน้อย ร้องลำสลับการร้องเพลงจังหวะเร็ว หมอลำทองอินทร์ สายบุญสา (ถึงแก่กรรม) เป็นชาวศรีสะเกษ ที่ได้รับรางวัลพระราชทานจาก
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการ ประกวดหมอลำที่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ การเล่นลำคู่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เพราะมีการ
เล่นหมอลำซิ่งที่ เร้าใจกว่า หมอลำคู่จะมีการสอย โดยมีผู้ชมพูดขัดขึ้นระหว่างการลำ ผู้ไม่เคยชมอาจจะมองว่าการสอยและ การลำ มีถ้อยคำหยาบโลน
เช่น สอยสอย น้ำท่วมเข่าเห็นแต่ใบวี น้ำท่วม……เห็นแต่…..

               หมอลำหมู่
     หมอลำหมู่ คือลำเป็นคณะ แต่งตัวคล้ายลิเก แสดงเป็นเรื่องเป็นราว เช่น เรื่องผาแดงนางไอ่ สังข์ศิลป์ชัย นางสิบสอง กำพร้าผีน้อย นกกระยางขาว
เป็นต้น หมอลำหมู่มี สองแบบคือ
     - หมอลำเวียง ซึ่งอาจเป็นสังวาส (ทำนอง) เวียงจันทน์ สังวาสขอนแก่น เช่นลำเรื่องลีลาวดี เป็นต้น ท่วงทำนองช้า ๆ เวลาเล่นเรื่องโศกเศร้าจะตรึง
ผู้ชมให้คล้อยตามได้
     - หมอลำเพลิน เป็นหมอลำหมู่ที่นิยมเพราะมีทำนองสนุกเร้าใจ ผู้เล่นที่เป็นหญิงมักจะนุ่งสั้น ๆ เล่นเรื่องขุนช้างขุนแผน และชาละวันไกรทอง เป็นพื้น
หมอลำจังหวัดศรีสะเกษที่มี ชื่อเสียง เช่น ไก่ฟ้า ดาดวง ที่ถึงแก่กรรมแล้ว หมอลำเพลินวงบ้านโพธิ์ อำเภอราษีไศล ที่เล่นเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น
ส่วนหมอลำสมัยใหม่ ที่มีราคาค่าจ้างแสดงสูงคือวงแดนดอกบัว บ้านหนองโพธิ์ ตำบลหนองครก อำเภอเมือง ซึ่งมีการบันทึกเสียงเพื่อการจำหน่ายที่
เรียกว่าออกเทป เป็นที่นิยมอย่าง แพร่หลาย สถานที่ชุมนุมหมอลำ อยู่ที่สถานีวิทยุ จส.๖ บริเวณคุ้มวัดเจียงอี และเมืองใหม่สะพานขาว




หนังตะลุงผึ้งเพียมาต
     นายสิงห์  จำเริญ  บ้านผึ้ง  ตำบลหนองแค  อำเภอราษีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ  ให้สัมภาษณ์ว่า  เริ่มเล่นหนังตะลุงตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี กับครูหนัง
ที่จังหวัดยโสธร ต่อมาได้ตั้งคณะหนังตะลุงขึ้นเป็นคนแรกและเป็นคณะเดียวที่บ้านผึ้งเพียมาต เรียกว่า หนังประโมทัย โดยให้เหตุผลว่า เป็นหนัง
ที่เริ่มจากภาคอีสานจึงควรมีชื่อเรียกเฉพาะของคนอีสาน แต่ชาวบ้านจะเรียกว่า หนังบักตื้อ เพราะจำเอาชื่อตัวละครที่ชื่นชอบในเรื่อง
     เรื่องที่นำมาแสดงคือ เรื่องรามเกียรติ์  ตอนพระรามออกบวช จนกระทั่งพระรามกลับมาครองเมือง ตัวประกอบที่เป็นตัวตลกลักษณะท่าทาง
เหมือนคนอีสาน ได้แก่ ปลัดตื้อ บักป่อง บักแหมบ (จมูกบี้) โดยมีผู้เชิดและผู้พากย์เป็นคนเดียวกัน เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบมี กลอง แคน
และระนาดเอก ปัจจุบันมีผู้แสดงมากขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบก็มากขึ้น มีการพัฒนาตามความนิยมของผู้ชมคือ เพิ่มหมอลำซิ่งเข้าไปแทรก
ระหว่างการแสดงหนังตะลุง ภาษาที่ใช้พากย์ตามลักษณะตัวละคร มีการใช้ทั้งภาษาไทย ภาษาลาว และภาษาลาวเวียงจันทน์ ซึ่งมีคำว่า โดย หรือ
ข้าน้อย ขานรับ
     เวทีที่ใช้แสดงสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร ขนาดของเวทีกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๕.๓๐ เมตร ใช้ผ้าและทางมะพร้าวปิดรอบเวทีไว้
ทุกด้านเพื่อไม่ให้ผู้ชมมองเห็นผู้พากย์และนักดนตรี แสงไฟที่ใช้ส่องจอใช้ตะเกียงโป๊ะ ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุและพัฒนามาใช้หลอดไฟฟ้าขนาด
๖๐-๙๐ แรงเทียนจำนวน ๓ หลอด ก่อนการแสดงหัวหน้าคณะต้องร่ายเวทมนตร์ หยดน้ำมนต์ลงพื้นดินเพื่อขออนุญาตแม่ธรณีและเป็นสิริมงคลแก่
คณะของตน

อุปกรณ์การเล่น
     ตัวหนังที่เป็นรูปพระราม ตัวทหาร ตัวตลก ที่มีชื่อและลักษณะท่าทางเหมือนคนอีสาน เช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแหมบ เวทีที่ใช้แสดงจะอยู่ระดับสายตา
ส่วนจอจะสูงจากเวทีประมาณ ๑ เมตร ขนาดของเวทีกว้างประมาณ ๑.๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๕.๓๐ เมตร แสงไฟที่ส่องจอใช้ตะเกียงโป๊ะ (เจ้าพายุ)
ต่อมาใช้หลอดไฟฟ้าขนาด ๖๐, ๙๐ แรงเทียน

 





โขนขุขันธ์
     โขนขุขันธ์  การแสดงโขนของอำเภอขุขันธ์เป็นโขนแบบที่เล่นประยุกต์การดำเนินเรื่องเร็วกว่าโขนมาตรฐาน เพราะลีลาการร่ายรำไม่เต็มแบบฉบับ
โดยนำแบบฉบับการร่ายรำละครนอกตัดทอนมาผสมผสานลีลาร่ายรำและการพากย์โขนรวมกันเล่น
     การเล่นละครนอกของอำเภอขุขันธ์นั้น เคยฝึกซ้อมเล่นถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งขุขันธ์เป็นจังหวัด คือ ละครนอกสายพระยาขุขันธ์ภักดี-
ศรีนครลำดวน(ปัญญา ขุขันธิน) ซึ่งหาครูเขมรจากประเทศกัมพูชามาสอน บทขับร้องและเจรจาเป็นภาษาเขมร อีกสายหนึ่งเป็นละครนอกของ
พระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี กาญจนเสริม) ซึ่งหาครูจากกรุงเทพมาสอน บทขับร้องและบทเจรจาเป็นภาษาไทย แต่ลีลาการร่ายรำขับร้องและการ
เจรจา ทั้งสองสายนี้คล้ายกัน
     จากการที่นายบุญเลิศ จันทร อดีตครูใหญ่โรงเรียนขุขันธ์วิทยา ได้ฝึกซ้อมนักเล่นโขน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ เล่นรอบกองไฟในงานของ
โรงเรียนขุขันธ์วิทยาและนายศิริ  ศิลาวัฒน์  อดีตครูหัวหน้ากลุ่มโรงเรียนตำบลหัวเสือ อำเภอขุขันธ์ นำครูและนักเรียนไปชุมนุมลูกเสือที่อำเภอ
ได้ฝึกซ้อมโขนตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์และสังหารกุมภกรรณ เครื่องแต่งกายเท่าที่พอจะหาได้ ไม่มีหัวโขนแต่ใช้หน้ากากปิดหน้าแทน
     พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๓ ได้แสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ ผู้ว่าราชการจังหวัด(นายกำเกิง  สุรการ)  ได้ให้ทางอำเภอขุขันธ์ฝึกซ้อม
การแสดงโขน นายอำเภอขุขันธ์(นายสม  ทัดศรี) จึงได้ให้นายศิริ ศิลาวัฒน์ จัดทำบทให้ผู้ฝึกซ้อมดำเนินการ 4 ตอน คือ

ตอนกำเนิด พาลี สุครีพ หนุมาน
ตอนทรพีฆ่าพ่อ และพาลีฆ่าทรพี

ตอนหนุมานส่งข่าวนางสีดาและเผากรุงลงกา
ตอนพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์และสังหารกุมภกรรณ

     วงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนขุขันธ์นั้นมาจากบ้านหัวเสือ  อำเภอขุขันธ์  และวงปี่พาทย์นี้ยังคงรวมตัวกันแสดงในงานเทศกาลทั่วไป






เล่นลูกสะบ้า

     เล่นลูกสะบ้า  ใช้ลูกสะบ้า  ประมาณ ๓๐ ลูก เป็นลูกที่ใช้ตั้งฝ่ายละ ๕ ลูก ใช้เป็นลูกโยนฝ่ายละ ๑๐ ลูก คนเล่นฝ่ายละ ๕-๗ คน
แบ่งคนเล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย แล้วตั้งลูกสะบ้าไว้ฝ่ายละ ๕ ลูก แต่ละฝ่ายจะอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร มีลูกสะบ้าสำหรับโยน ๑๐ ลูก
ตกลงกันว่าจะให้ฝ่ายใดเริ่มโยนก่อน  การสิ้นสุดการเล่นฝ่ายใดโยนล้มหมดทุกลูกจะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายที่แพ้จะถูกเคาะหัวเข่า (เขกเข่า)
ด้วยลูกสะบ้า  ทำให้ผู้เล่นได้รับความสนุกสนานสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่คณะรักพวกพ้อง รู้จักคิดหาวิธีช่วยเหลือกันและมีน้ำใจ
เป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักอภัย ส่วนมากนิยมเล่นในงานประเพณีสงกรานต์ หรือ งานเทศกาลรื่นเริงในหมู่บ้าน เวลากลางวัน



การเส็งกลอง
     พระครูประภัศรสังฆกิจ (สุรเมธี ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดบ้านโนนสังข์และ เจ้าคณะอำเภอกันทรารมย์ นายสมบัติ โนนสังข์ บ้านโนนสังข์ ตำบล
โนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้อธิบายว่า การเส็งกลองคือ การแข่งขันตีกลอง การแข่งขันนั้นเรียกว่า เส็ง กลองที่นำมาเส็งนี้ไม่ใช่
กลองยาวแต่เป็นกลองที่ทำขึ้นมาเพื่อแข่ง โดยเฉพาะกลองที่นำมาแข่งขัน เรียกว่า กลองกิ่ง กลองจิ่ง หรือ กลองเส็ง มีขนาดหน้ากลองมีรัศมี ๒๔ – ๓๐
นิ้ว ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใช้เป็นคู่ การเส็งต้องตีทั้งคู่ หรือตีเดี่ยวตามแต่วิธีการตีหรือตกลงกัน กลองกิ่งเวลาตีจะดังกว่ากลองชนิดอื่น ๆ
คนที่ยืนใกล้เวลาเขาเส็งกันต้องเอามืออุดหูหรือใช้สำลี นุ่น อุดหู ผู้ตีเองก็ใช้สำลีหรือนุ่นอุดหูไว้เช่นกัน





ฟ้อนกลองตุ้ม
     การฟ้อนกลองตุ้มของบ้านหนองแก้ว บ้านหนองแวง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัด
ศรีสะเกษ จะมีขึ้นประมาณเดือน ๖ ของทุกปี เพราะใช้ฟ้อนประกอบ ประเพณีบุญบั้งไฟ
เดิมนั้นจะมีการฟ้อนที่วัด โดยจัดขบวนให้พวกแห่บั้งไฟ อยู่ตรงกลาง พวกฟ้อนอยู่
รอบนอก ฟ้อนเป็นวงกลมรอบ บั้งไฟ ผู้ฟ้อนเป็น ชายล้วน ปัจจุบันผู้ฟ้อนมีทั้งชายหญิง
ฟ้อนเป็นขบวนยาวจัดเป็น ๒ แถว การแต่งกาย ผู้ฟ้อนกลองตุ้มแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง
และอุปกรณ์ที่พอจะ หาได้ ใน หมู่บ้าน คือ
๑. ผ้าโพกหัว เป็นผ้าลายขิด หญิงโพกผูกไปทางซ้าย ชายโพกผูกไปทางขวา
๒. ใส่กระจอนหู (ตุ้มหู) มีลักษณะเป็นพวงระย้าค่อย ๆ เรียวลง
๓. ผ้าสไบ ใช้ห่มเป็นสะพายไขว้กัน ทิ้งชายลงด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง
๔. ตุ้มเปหรือตุ้มยำแยบ ใช้เป็นสร้อยคอและเป็นสายสะพายไขว้กันเหมือนสายสังวาล
ตรงชายตุ้มเปจะมีตุ้มห้อยเป็นรูปดาว
๕. แว่น (กระจก) ห้อยสายสร้อยอีกเส้นหนึ่งใช้ส่องเวลาแต่งหน้าและเพื่อให้เกิด
แสงวูบวาบสะท้อนให้เทวดาฟ้าดินได้มองเห็นความทุกข์ยากของประชาชน
๖. กำไลข้อมือ ข้อเท้าทั้งสองข้าง
๗. ผ้าคาดเอว ใช้คาดทับสไบ
๘. ซวยมือ (เล็บ) ใช้สวมนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว มีลักษณะยาวเรียวคล้ายฟ้อนเล็บของ ภาคเหนือ
๙. ผ้านุ่งเป็นโสร่งไหม
๑๐. เสื้อเดิมใช้สีอะไรก็ได้ปัจจุบันเพื่อให้เกิดความสวยงามจึงใช้สีเหมือนกัน กระดุมเป็นเงินก้อนหรือเหรียญสลึง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ มีดังนี้
- กลองตุ้ม ใช้ไม้ประดู่ทำตัวกลอง หนังกลองใช้หนังวัวหรือหนังควาย
- ไม้ตีกลอง ใช้แก่นไม้แล้วหุ้มหัวสำหรับใช้ตี
- พังฮาด มีลักษณะคล้ายฆ้อง แต่ไม่มีตุ้มใช้แทรกกับเสียงกลอง







ฟ้อนงูกินเขียด
     ฟ้อนงูกินเขียด นิยมฟ้อนกันตอนกลางคืนในงานบุญบั้งไฟ หลังจากเลิก การฟ้อนตุ้ม ท่าฟ้อนเป็นแบบอิสระตามแบบฉบับของตัวเองแต่ละคน
ใช้กลองยาวตีประกอบจังหวะ ไม่มีการกำหนดท่ารำแถวไม่ตรงกันและไม่แตกแถวออกจากกัน ผู้ฟ้อนจุดไต้ถือด้วยมือซ้ายหรือมือขวา ก็ได้
แล้วพูดให้เข้าจังหวะว่า งูกินเขียดอยู่ทางนาฮี ข่วมปีข่วมบ่อ ข่วมทุกข์ข่วมยาก ขอหมากกินแหน่ หมากอยู่กก กกอยู่เหง่า เหง่าอยู่ดิน ขอกิน
ลูกแหล่งแหน่ กินได้กินเอา ผู้ฟ้อนถือไต้เดินคดเคี้ยวไปมาพร้อมกับรำไปด้วยและร้องโต้ตอบกันระหว่าง หนุ่มสาว โดยฝ่ายหนุ่มเป็นฝ่าย
เกี้ยวสาว ฝ่ายสาวจะขานรับดังนี้ หนุ่ม เอาอ้ายบ่หล่า สาว เอา หนุ่ม ตั๋วสาแหล่ว สั้นแม่นตั๋ว ให้ขาขด ขาโขง ขาโงอ้อมบ้าน ขาก่านอ้อมฮี ขาวีไหว่ๆ
ขาไล่แมลงวัน ขาซันกี่ถี่ ขาซีก่องด่อง สาว บ่แหล่ว การฟ้อนงูกินเขียดเป็นการรำที่สะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนาน รื่นเริง แสดงถึงความสามัคคี
พร้อมเพรียงของคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี



   

เรือมตร๊ด (รำตรุษ หรือ รำตร๊ด)
     เรือมตร๊ด (รำตรุษ หรือ รำตร๊ด)  เป็นการรำของชาวศรีสะเกษ เชื้อสายเขมร นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐินและในหน้าแล้งเดือนห้า
โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกบุญ ขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุน ผ้าป่า กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี คือ กลอง
ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่ กันชัร (อ่านว่า กัน-ชัล เป็นภาษาเขมร) กระพรวนวัว ซออู้ อุปกรณ์ที่ประกอบการเล่นมีคันเบ็ด ผู้เล่นผู้ชายร้องเพลงคนหนึ่ง
มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ ฝ่ายหญิงหนึ่งคน นางรำ แล้วแต่จำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมประมาณ ๑๒ คน ผู้แสดงประกอบคล้าย ๆ ตัวละคร มีพราหมณ์
ขอทาน สวมหน้ากาก ตีกลอง ถือกระพรวนวัว ถือกะลา ถือคันเบ็ด การร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฏลีลา อ่อนช้อย เนิบนาบ การร้องและกระทุ้ง
กระพรวนจำนวนหลายลูกผูกติดกับไม้ที่เป็นรูปกากบาทมีกลอง ปี่หรือขลุ่ย นักร้องหญิงชายร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน ๑๕ – ๒๐ คน
เดินไปตามบ้านของเพื่อนบ้าน เหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร) ของชาวลาวในโอกาสที่มีงานบุญ นิยมเล่นกันที่บ้านสำโรงพลัน ตำบลสำโรงพลัน
อำเภอไพรบึง บ้านนาตราว บ้านศาลา ตำบลโคกตาล บ้านจำปาวง ตำบลนาตราว อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ การแต่งกายสวมชุดพื้นเมือง เช่น
ผ้าโสร่ง ผ้าไหม สวมเสื้อหลากสี คณะของรำตร๊ดนี้เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใด ก็จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็เริ่มร้อง เมื่อผู้ร้องนำร้องเสร็จ ผู้ร้องตามก็ร้อง
พร้อมกัน พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายที ทางขวาที กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวนให้ได้ยินถึง เจ้าของบ้าน แต่เดิมนั้น การรำตร๊ดเป็นการร้อง
บอกกล่าวให้รู้ว่าบัดนี้ถึงวันปีใหม่แล้ว คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ สงกรานต์ ขอให้พวกเราหยุดการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำนา ตีมีด ทอผ้า
หรืองานอื่น ๆ ขอให้หยุดเพื่อมาร่วมฉลองปีใหม่ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ จึงขอบอกบุญมายังพี่น้องทุกคน เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำ
ให้ดื่ม ให้สุราและถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ หลังจากนั้นคณะรำตร๊ด ก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ

 





เรือมอายัย (รำอายัย)
     เรือมอายัย (รำอายัย)  เป็นการรำของชาวศรีสะเกษ ที่มีเชื้อสายเขมร ที่เป็นการร้องโต้ตอบกันทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว ในเทศกาล
ต่าง ๆ ที่เป็นงานรื่นเริงสนุกสนาน โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครู พร้อมกัน เสร็จแล้วก็จะเดินออกมาร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ มีลูกคู่ร้องรับ เมื่อร้องจบ
ในแต่ละวรรค ดนตรีก็จะบรรเลงรับผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน ลูกคู่ก็จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบ คู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่
จนครบและร้องบทลาในตอนจบการรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำ ส่วนใหญ่ เป็นท่าจีบและแบมือ เรียกว่า
อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็น ท่าทีคอยปัด หรือท่าปกป้องระวังการถูกมือต้องตัว การแต่งกายใช้ผ้าที่ทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง
สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสใบคล้องคอ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นมีผ้าไหมคาดที่เอว เครื่องดนตรีที่ใช้มีกลอง (สก็วล) ๑ คู่
ปี่อ้อ ๑ เลา ซอ ๑ – ๒ คัน ฉิ่ง ฉาบ กรับ ทำนอง ที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน







กันตรึม
     กันตรึม  เป็นการแสดงของชาวไทยเชื้อสายเขมรของจังหวัดศรีสะเกษ กันตรึมมีที่มาจากแนวความคิดซึ่งนอกจากจะเป็นการ ละเล่นเพื่อความ
สนุกสนาน แล้วยังเป็นการใช้การแสดงการร้องรำ เพื่อบนบานรักษาผู้ป่วยด้วยอีกทางหนึ่ง เป็นประเพณี ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ






รำศรีพฤทเธศวร
     รำศรีพฤทเธศวร  เป็นท่ารำที่คิดขึ้นโดยกรมศิลปากร เพื่อใช้แสดงในงานวันดอกลำดวนบาน หรือเทศกาลดอกลำดวน หรือเทศกาลดอกลำดวนบาน
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  ในเดือนมีนาคมทุกปี   โดยผูกเรื่องและท่ารำให้สอดคล้องกับศิลาจารึกที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่  ที่กล่าวถึงการสถาปนา
ศรีพฤทเธศวร  หรือปราสาทสระกำแพงใหญ่และการอุทิศสาวๆ  ให้เป็นผู้รับใช้เทวสถานแห่งนี้ เป็นท่ารำที่สวยงามอ่อนช้อยและเป็นสัญลักษณ์ของ
จังหวัดศรีสะเกษไปแล้ว





ฟ้อนรำตำตะ
     ฟ้อนรำตำตะ  เป็นการฟ้อนของชาวกวยศรีสะเกษ  เป็นการคิดค้นท่ารำโดยคณะครูโรงเรียนบ้านตะดอบ  ตำบลตะดอบ  อำเภอเมือง  จังหวัด
ศรีสะเกษ  ซึ่งหมู่บ้านนี้มีประชากรเป็นชาวกวย(ส่วย)  ที่ตั้งถิ่นฐานรอบหนองเม็ง  อันมีแร่เหล็กในบริเวณนั้นเป็นแหล่งน้ำซับ  ชาวบ้านตะดอบ
จึงมีความชำนาญในการหลอมเหล็กและตีเหล็กเป็นเครื่องใช้  เช่น  มีด  จอบ  เสียม  ดาบ  หอก ฯลฯ  ตี ในภาษากวยคือ ตำ  เหล็กในภาษากวย
คือ  ตะ  ตำตะ  จึงแปลว่า  ตีเหล็ก  ซึ่งต้องทำรวมกันหลายคน  เช่น  การขุดเอาดินโพนมาคลุกเคล้ากับแกลบในการปั้นเตา  การร่วมพิธีกรรม
บวงสรวงเจ้าที่ เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี การก่อไฟในเตาด้วยถ่าน การสูบลมเป่าให้ไฟแรงกล้าขึ้น การนำเหล็กมาเผาไฟจนแดงเต็มที่ การคับเหล็ก
ที่เผาจนแดงออกมาวางที่รองตี  การตีเหล็กให้เป็นรูปเครื่องใช้ตามที่ต้องการ  การนำเหล็กไปเผาอีกครั้งแล้วชุบด้วยน้ำในหลุมเล็กที่ขุดข้างเตา
การตะไบเหล็กให้เกิดความคม  เพื่อนำไปใช้และจำหน่ายต่อไป  จึงมีการสร้างสรรค์ท่ารำตำตะประกอบดนตรีโปงลางขึ้น  ๖  ท่า  ดนตรีโปงลาง
ใช้จังหวะการรำ ๓ ลายคือ
ลายที่ ๑ ลายมโหรีอีสาน ใช้ประกอบท่ารำที่ ๑ – ๓
ลายที่ ๒ ลายสีทันดร ใช้ประกอบท่ารำที่ ๔
ลายที่ ๓ เรียกว่าลายแมงภู่ตอมดอก ใช้ประกอบท่ารำที่ ๕ – ๖
ผู้แสดงประกอบด้วยหญิงสวมเสื้อแขนกุด ผ้าถุงไหมของชาวกวย ผ้าสไบสีแดง (ตีนซิ่น) ผ้าโพกหัวสีดำ(ผ้าเหยียบ) เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน
ฝ่ายชาย นุ่งผ้าโสร่งไหม ผ้าสไบสีแดง(ตีนซิ่น) ผ้าโพกหัวสีแดง(ตีนซิ่น) เครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ท่ารำแรก เป็นท่าเริ่มแสดง ท่ารำที่ ๑ คือ
ท่าปั้นเตา ท่ารำที่ ๒ ท่าก่อไฟ ท่ารำที่ ๓ ท่าสูบลม ท่ารำที่ ๔ ท่าตีเหล็ก ท่ารำที่ ๕ ท่าชุบมีด ท่ารำที่ ๖ ท่ารำชื่นชม ผลงาน





โปงลาง
     โปงลาง  มีการสนับสนุนการเล่นโปงลางในสถานศึกษา เช่น วงโปงลางของโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย โรงเรียนราษีไศล โรงเรียนกันทรารมย์
ซึ่งเป็นที่นิยมในการจัดแสดงในงานต่างๆ โดยเฉพาะวงโปงลางของโรงเรียนกันทรารมย์ ได้เดินทางไปแสดงที่ประเทศสหรัฐอเมริยาเมื่อปี พ.ศ.
๒๕๔๐ โดยการนำของนายวิชัย ศิริบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนและนายเทอดสิทธิ์  อุตส่าห์  หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกันทรารมย์ในขณะนั้น






หน้าแรก